สื่อสิ่งพิมพ์หนังสือวิชาการ

คู่มือ ประโยค ป.ธ.๓ “อรรถกถาธรรมบท ภาค ๖  แปลโดยอรรถ” 

 

ชื่อ คู่มือ ประโยค ป.ธ.๓ อรรถกถาธรรมบท ภาค ๖ แปลโดยอรรถ
ISBN 978-616-300-161-0
ภาษา ไทย
ตีพิมพ์ปี พฤษภาคม  ๒๕๕๘
จำนวน ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า ๑๘๒
ผู้แปล คณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
โรงพิมพ์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ราคาปก ๑๑๐ บาท
เนื้อหาโดยย่อ คู่มือ ประโยค ป.ธ.๓ “อรรถกถาธรรมบท ภาค ๖  แปลโดยอรรถ”  เล่มนี้ แปลมาจากอรรถกถาธรรมบท ภาษาบาลี  ภาค ๖ ซึ่งเป็นผลงานของพระพุทธโฆสาจารย์ นักปราชญ์ชาวอินเดีย ผู้มีชื่อเสียงกึกก้อง เดินทางไปสิงหล (เกาะลังกา)  เพื่อแปลพระไตรปิฎกและอรรถกถาจากภาษาสิงหลเป็นภาษาบาลี  เมื่อ  พ.ศ.๙๕๖  เป็นสำนวนการแปลอรรถกถา ซึ่งเป็นหลักสูตรวิชาแปลมคธเป็นไทย  ชั้นประโยค ป.ธ.๓  มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ศึกษาเนื้อหาหรือเรื่องราว จำนวน๖วรรคคือ

อัตตวรรค หมวดว่าด้วยตนในวรรคนี้  เน้นถึงตน คำว่า ตน ในที่นี้หมายถึงผู้กระทำ (สยกัตตา) โดยทั่วไป  ไม่ได้หมายถึงอัตตา หรืออาตมัน  ในศาสนาพราหมณ์  พระองค์ทรงสอนให้รู้จักรักษาตนด้วยการทำดี  ให้รู้จักวางจังหวะของชีวิต  การทำหน้าที่ต่อผู้อื่น  ไม่ควรทำหน้าที่ของตนให้บกพร่อง  ก่อนจะสอนคนอื่น ควรพยายามสอนตนให้ได้ก่อน เพื่อป้องกันความเดือดร้อนที่จะเกิดแก่ตน

โลกวรรคหมวดว่าด้วยโลกเน้นถึงโลก คำว่าโลกมีความหมายหลายอย่าง คือ โลกคือหมู่สัตว์ โลกคือแผ่นดิน โลกคือแผ่นดิน  โลกคือภพนี้และภพหน้า  โลกคือขันธ์ ๕ โลกคือชาวโลก  โลกคือวัฏทุกข์   โดยมุ่งหมายให้อยู่ในโลกอย่างไม่ประมาท ไม่ควรเป็นคนรกโลก  ให้อยู่อย่างมีคุณธรรม จึงจะมีความสุข  และทรงสอนให้เห็นความเป็นจริงของโลก

พุทธวรรคหมวดว่าด้วยพระพุทธเจ้า ในวรรคนี้เน้นถึงพระพุทธเจ้าหมายถึงพระพุทธเจ้า พุทธภาวะ และคำสั่งสอน  คำว่า พระพุทธเจ้า คือผู้ที่ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ด้วยพระองค์เอง  และทรงสอนสามารถสอนผู้อื่นให้รู้ตามได้ การที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงอุบัติขึ้นยากยิ่งนัก  พุทธภาวะ คือ คุณสมบัติของพระพุทธเจ้า  เช่นทรงกำจัดกิเลสได้เด็ดขาด  มีพระญาณหาที่สุดมิได้  ไม่มีร่องรอยทรงก้าวล่วงมารและเสนามาร  สามารถแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ได้ เช่น ยมกปาฏิหาริย์  ทรงเป็นสรณะอันเกษมสูงสุดของมนุษย์  เพราะทำให้ถึงความหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง และหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ทรงแสดงหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา กล่าวคือ การไม่ทำบาปทั้งปวง  การทำกุศลให้ถึงพร้อม  การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว นี้คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

สุขวรรค หมวดว่าด้วยความสุขในวรรคนี้เน้นถึงวิธีสร้างความสุขที่แท้จริงให้แก่ชีวิต  คือ ไม่ก่อเวร  ไม่ทำตนให้เดือดร้อน  กำจัดความกังวล  ละความชนะและความพ่ายแพ้  แสวงหาความสงบ  คบหาพระอริยะ อยู่ร่วมกับนักปราชญ์  ไม่คบคนพาล โดยทรงชี้ให้เห็นว่า การแข่งดีมุ่งจะเอาชนะผู้อื่น ทำให้ไม่มีความสุข ก่อให้เกิดภัยเวรและทรงแสดงถึงสิ่งสุดยอดต่างๆ เช่น ยอดแห่งไฟ : ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี ยอดแห่งทรัพย์ :  ความสันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง

ปิยวรรคหมวดว่าด้วยสิ่งอันเป็นที่รักคำว่าสิ่งเป็นที่รักมีความหมาย๒ นัย คือ ๑.ทางโลก หมายถึง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรรมารมณ์  ที่น่าปรารถนา น่าใคร น่าพอใจ  หรือหมายถึงกิเลสตัณหา ๒.ทางธรรม หมายถึง บุญกุศล  ศีล สมาธิ ปัญญา นิพพาน  และทรงสอนวิธีปฏิบัติต่อสิ่งอันเป็นที่รัก

โกธวรรคหมวดว่าด้วยความโกรธเน้นถึงความโกรธ  โดยทรงสอนเรื่องความโกรธ  โทษแห่งความโกรธ  วิธีละความโกรธ ประโยชน์ของการละความโกรธ วิธีละความโกรธ  คือให้เห็นว่าเป็นโลกธรรม  มีมาทุกยุคทุกสมัย  เช่น ความโกรธที่เกิดจากถูกนินทาว่าร้าย  คนไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก  หน้าที่ของเราคือ  สำรวยกาย วาจา ใจ ไม่ไห้กำเริบ ถ้ามีคนโกรธ พึงปฏิบัติตามธรรม ด้วยคำว่า บุคคลพึงชนะคนโกรธด้วยความไม่โกรธ

คู่มือ ประโยค ป.ธ.๓  “อรรถกถาธรรมบท ภาค ๖  แปลโดยอรรถ”  เล่มนี้ แปลโดยคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  กล่าวถึงเนื้อหาหรือเรื่องราวอัตตวรรคหมวดว่าด้วยตนมีจำนวน ๑๐เรื่อง ๑๐คาถา คำว่าตนในวรรคนี้ทรงมุ่งตรัสในระดับโลกิยะมุ่งหมายถึงผู้กระทำ(สยกัตตา)โดยทั่วไปเช่นในเรื่องโพธิราชกุมารข้อความที่ตรัสว่า “ถ้ารู้ว่าตนเป็นที่รัก … พึงประคับประคองตนไว้ให้ได้” หมายถึงถ้าเป็นคฤหัสถ์เมื่อรักตนก็ควรทำบุญมีทานและศีลเป็นต้นถ้าเป็นบรรพชิตก็ควรขวนขวายทำวัตรปฏิบัติศึกษาปริยัติและเจริญกัมมัฏฐานเป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๖/๕) หรือเช่นในเรื่องมารดาของพระกุมารกัสสปเถระข้อความที่ตรัสว่า “ตนแลเป็นที่พึงของตน”หมายถึงตนเองเท่านั้นที่จะสามารถทำกุศลแล้วเข้าถึงสวรรค์หรือบรรลุมรรคผลได้ที่พึ่งคืออรหัตตผลได้ไม่มีใครอื่นจะทำให้ได้เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๕)

โลกวรรคหมวดว่าด้วยเรื่องโลก มีจำนวน  ๑๑เรื่อง ๑๒คาถา คำว่าโลกในวรรคนี้มีความหมายหลายนัยเข่น ในเรื่องภิกษุหนุ่มโลกหมายถึงโลกคือหมู่สัตว์หรือโลกคือแผ่นดินในเรื่องพระเจ้าสุทโธทนะเรื่องนางจิญจมาณวิกาเรื่องอสทิสทานและเรื่องนายกาละบุตรของอนาถบิณฑิกเศรษฐีโลกหมายถึงกาลเวลาคือภพนี้และภพหน้าในเรื่องภิกษุผู้เจริญวิปัสสนา๕๐๐รูปเรื่องอภัยราชกุมารเรื่องพระสัมมัชชนเถระและเรื่องพระอังคุลิมาลเถระโลกหมายถึงโลกคือขันธ์๕เป็นต้นในเรื่องธิดานายช่างหูกโลกหมายถึงโลกิยมหาชนในเรื่องภิกษุ๓๐รูปโลกหมายถึงโลกคือวัฏฏทุกข์ (ขุ.ธ.อ. ๖/๓๑-๔๒)

พุทธวรรคหมวดว่าด้วยเรื่องพระพุทธเจ้ามีจำนวน ๙ เรื่อง๑๘ คาถาคำว่าพระพุทธเจ้าหมายถึงผู้ตรัสรู้ธรรมทั้งปวงคืออริยสัจ๔เป็นต้นโดยชอบและด้วยพระองค์เองในวรรคนี้คือใน๔เรื่องแรกทรงแสดงสภาวะแห่งความเป็นพระพุทธเจ้าคือทรงชนะกิเลสได้ไม่กลับแพ้อีกทรงปราศจากร่องรอยคือราคะโทสะโมหะไร้ตัณหายินดีในนิพพานและการที่จะอุบัติเป็นพระพุทธเจ้าในโลกได้นั้นยากยิ่งกว่าการเกิดการดำรงอยู่และการฟังธรรมของมนุษย์ในเรื่องปัญหาของพระอานนทเถระทรงแสดงหลักคำสอนของในเรื่องภิกษุผู้ไม่ยินดีทรงแสดงว่าสาวกของพระพุทธเจ้าย่อมยินดีในความสิ้นตัณหาในเรื่องอัคคิทัตตปุโรหิตทรงแสดงว่าพระรัตนตรัยคือที่พึ่งอันเกษมในเรื่องพระอานนทเถระเรื่องภิกษุหลายรูปและเรื่องพระเจดีย์ทองของพระกัสสปทศพลทรงแสดงว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้เป็นบุรุษอาชาไนยเกิดในตระกูลใดตระกูลนั้นย่อมได้รับแต่ความสุขประสพแต่บุญที่มิอาจจะประมาณได้

สุขวรรคหมวดว่าด้วยความสุข      มีจำนวน ๘เรื่อง  ๑๒คาถา คำว่าความสุขในวรรคนี้หมายถึงความไม่มีเวรต่อกันไม่มีความเดือดร้อนเพราะกิเลสการละความติดใจในกามคุณ๕ความปราศจากกิเลสเครื่องกังวลคือราคะโทสะและโมหะการอยู่ร่วมกับพระอริยะและโดยที่สุดหมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๑๓-๑๒๔) ในวรรคนี้นอกจากทรงแสดงถึงความสุขโดยสภาวะต่างๆแล้วยังทรงแสดงความทุกข์โดยสภาวะที่ตรงกันข้ามกับความสุขอีกด้วยเช่นการอยู่อย่างมีเวรต่อกันความหมกมุ่นในกามคุณ๕เป็นต้น

ปิยวรรคหมวดว่าด้วยสิ่งเป็นที่รักมีจำนวน ๙เรื่อง     ๑๒คาถาคำว่าสิ่งเป็นที่รัก ในวรรคนี้คือในเรื่องบรรพชิต๓รูปเรื่องกุฎุมพีคนใดคนหนึ่งเรื่องนางวิสาขาและเรื่องเจ้าลิจฉวีสิ่งเป็นที่รักหมายถึงปิยารมณ์ (อารมณ์ที่น่ารัก) ได้แก่กามคุณ๕ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๓๐-๑๓๕) เรื่องอนิตถิคันธกุมารสิ่งเป็นที่รักหมายถึงวัตถุกามและกิเลสกาม (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๓๘) เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่งหมายถึงตัณหาทั้ง๖เรื่องแรกดังกล่าวมาทรงแสดงว่าสิ่งเป็นที่รักเป็นเหตุให้เกิดความโศกและภัยต่างๆผู้ปราศจากสิ่งเป็นที่รักย่อมไม่มีความโศกและภัยส่วน๓เรื่องสุดท้ายคือเรื่องเด็กน้อย๕๐๐คนเรื่องพระอนาคามีเถระและเรื่องนายนันทิยะสิ่งเป็นที่รักหมายถึงปาริสุทธิศีล๔สัมมาทัสสนะโลกุตตรธรรม๙อริยสัจ๔ศีลสมาธิปัญญานิพพานและบุญกุศลที่เคยสั่งสมไว้

โกธวรรคหมวดว่าด้วยความโกรธมีจำนวน  ๘เรื่อง ๑๔คาถาคำว่าโกรธหมายถึงความขุ่นเคืองใจอย่างรุนแรงไม่พอใจอย่างรุนแรงในวรรคนี้ทรงแสดงให้เห็นโทษแห่งความโกรธคือความทุกข์ประโยชน์ของการละความโกรธคือความสุขและวิธีละความโกรธเช่นในเรื่องนางอุตตราอุบาสิกาทรงแสดงว่าพึงชนะคนโกรธด้วยความไม่โกรธหรือในเรื่องอตุลอุบาสกทรงแสดงว่าโลกธรรมคือสิ่งประจำโลกมีมานานแล้วมิใช่พึ่งมีทรงสอนให้รู้จักทำใจไม่ให้โกรธว่าในโลกนี้คนไม่ถูกนินทาไม่มีและในเรื่องพระฉัพพัคคีย์ทรงสอนให้สำรวมกายวาจาและใจมิให้กำเริบมีศีลมั่นคงดำรงชีวิตให้ปราศจากข้อตำหนิ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๗๔)

 

 

 

Close