ประวัติความเป็นมา
กองวิชาการเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มหาวิทยาลัยประกาศตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๐ เดิมชื่อว่า “กองวิชาธิการ”
มีวัตถุประสงค์เพื่อทำหน้าที่สำรวจ ตรวจชำระ จัดพิมพ์คัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนา และเรียบเรียงหนังสือทางวิชาการ เพื่ออำนวยประโยชน์ต่อการศึกษาของมหาวิทยาลัยและคณะสงฆ์ ในช่วงแรก กองวิชาการยังมิได้แบ่งหน่วยงานย่อยออกไปและไม่มีบุคลากรประจำทำหน้าที่ในการบริหารจัดการประจำหน่วยงาน พระมหาเถรานุเถระในช่วงแรก ได้มีกุศลเจตนาร่วมกันในการสนองงานตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวมาโดยลำดับ โดยได้คัดลอกพระสูตรและอรรถกถาพระสูตรออกมาตรวจชำระแล้วแยกตีพิมพ์เฉพาะ พระสูตรบ้าง เฉพาะอรรถกถาพระสูตรบ้าง รวบรวมและเรียบเรียงหนังสือทางวิชาการแล้วตีพิมพ์ออกเป็นรูปเล่มบ้าง เพื่ออำนวยประโยชน์ต่อการศึกษาของมหาวิทยาลัยและคณะสงฆ์เป็นสำคัญ
อย่างไรก็ดี กองวิชาการ สำนักงานอธิการบดี ได้ดำเนินการก่อตั้งขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ.๒๕๓๐ โดยสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้มีมติอนุมัติให้มีการแบ่งส่วนงาน ในการประชุมครั้งที่ ๖/๒๕๓๐ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๐ และมีประกาศมหาวิทยาลัยที่ ๕๐/๒๕๓๐ ลงวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๐ ให้แบ่งส่วนงานกองวิชาการเป็น ๔ ฝ่าย คือ
(๑) ฝ่ายคัมภีร์พุทธศาสตร์
(๒) ฝ่ายหลักสูตรและตำรา
(๓) ฝ่ายมาตรฐานการศึกษา
(๔) ฝ่ายประสานงานวิชาการ
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๔๐ โดยมีสถานภาพเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจและเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ เน้นการจัดการศึกษาวิชาการด้านพระพุทธศาสนาเป็นหลัก ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยได้ออกประกาศ เรื่อง การแบ่งส่วนงาน พ.ศ.๒๕๔๑ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๕ตอนพิเศษ ๑๐๐ง วันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๑ ซึ่งกองวิชาการ เป็นส่วนงานหนึ่งในสำนักงานอธิการบดี ตามประกาศมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เรื่อง การแบ่งส่วนงานภายในมหาวิทยาลัย พ.ศ.๒๕๔๑ ลงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๑ กองวิชาการได้แบ่งส่วนงานออกเป็น ๔ ฝ่าย คือ
(๑) ฝ่ายมาตรฐานการศึกษา
(๒) ฝ่ายหลักสูตรและการสอน
(๓) ฝ่ายตำราและเอกสารทางวิชาการ
(๔) ฝ่ายคัมภีร์พุทธศาสตร์
ต่อมา มหาวิทยาลัยได้รับการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ กองวิชาการได้สนองงานตามวัตถุประสงค์มากยิ่งขึ้น จนถึง วันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๒ มหาวิทยาลัยจึงประกาศแยกหน่วยงานภายในกองวิชาการออกเป็น ๔ ฝ่าย พร้อมทั้งกำหนดภารกิจและหน้าที่ของแต่ละฝ่ายไว้อย่างชัดเจน กล่าวคือ
๑. ฝ่ายมาตรฐานและคุณภาพการศึกษา
๑.๑ ดำเนินการเกี่ยวกับการศึกษาให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานการศึกษา
๑.๒ ดำเนินการเกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษา
๑.๓ ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการของสภาวิชาการ
๒. ฝ่ายหลักสูตรและการสอน
๒.๑ เสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการศึกษา การวิจัยและการให้การบริหารทางวิชาการของมหาวิทยาลัย
๒.๒ ศึกษาวิเคราะห์ เสนอแนะ จัดทำ ปรับปรุง และพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัย
๒.๓ ส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย
๓. ฝ่ายตำราและเอกสารทางวิชาการ
๓.๑ ส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานการแต่งตำรา และงานวิจัย
๓.๒ ประสานงานเกี่ยวกับตำแหน่งทางวิชาการของมหาวิทยาลัย
๓.๓ รวบรวมผลงานทางวิชาการของมหาวิทยาลัย และจัดพิมพ์เผยแพร่
๓.๔ จัดพิมพ์หนังมุทิตาสักการะ หนังสือที่ระลึกของมหาวิทยาลัย
๓.๕ ดำเนินจัดตั้งสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
๔. ฝ่ายคัมภีร์พุทธศาสตร์
๔.๑ ดำเนินการสำรวจ ทำบัญชี สงวนรักษา ตรวจชำระ อ่าน ปริวรรต แปล จัดพิมพ์คัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา ปกรณ์วิเสส สัททาวิเสส และคัมภีร์โบราณอื่นๆ
๔.๒ ปฏิบัติงานร่วมกับ หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
หรือที่ได้รับมอบหมาย
ในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ มหาวิทยาลัยได้ตั้งสำนักงานประกันคุณภาพ รับผิดชอบภาระงานด้านประกันคุณภาพการศึกษา
ซึ่งเป็นงานของฝ่ายมาตรฐานและคุณภาพการศึกษา กองวิชาการ และปรับฝ่ายให้เป็นกลุ่มงาน
ในปี พ.ศ.๒๕๕๗ มหาวิทยาลัยออกประกาศ เรื่อง ภารกิจ อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของส่วนงานในมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๗ กองวิชาการ สำนักงานอธิการบดี มีอำนาจหน้าที่และรับผิดชอบเกี่ยวกับงานหลักสูตรและส่งเสริมประสิทธิภาพการสอน งานตำรา และเอกสารทางวิชาการ งานคัมภีร์พุทธศาสน์ และปฏิบัติงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย แบ่งงานเป็น ๓ กลุ่มงาน
ในปี พ.ศ.๒๕๖๑ มหาวิทยาลัยได้ตั้งสถาบันพระไตรปิฎกศึกษา รับผิดชอบงานด้านคัมภีร์พุทธศาสน์ ซึ่งเป็นงานของ กลุ่มงานคัมภีร์พุทธศาสน์ กองวิชาการ โดยปฏิบัติงานตรวจชำระ ปริวรรต แปล สำรวจ ทำบัญชี สงวนรักษาและจัดพิมพ์คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา รวมทั้งหนังสือเพื่อการศึกษาทางพระพุทธศาสนา ทั้งในรูปเอกสารและสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และปฏิบัติงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย และโยกคนของกลุ่มงานคัมภีร์พุทธศาสน์ไปด้วย แต่งบประมาณยังผูกพันอยู่กับกองวิชาการอยู่ จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.๒๕๖๓ งบประมาณได้แยกกันอย่างเด็ดขาด
ในปี พ.ศ.๒๕๖๓ กองวิชาการ มีภารกิจ อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของส่วนงานในมหาวิทยาลัย กล่าวคือ
๑) กลุ่มงานหลักสูตรและการสอน ปฏิบัติงานประสานงานการพัฒนาหลักสูตรของมหาวิทยาลัยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอก ประสานงานให้หลักสูตรของมหาวิทยาลัยเป็นไปตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ และพัฒนาประสิทธิภาพการสอนของมหาวิทยาลัย รวมถึงงานสนับสนุนคณะกรรมการ (ก.พ.ว) และปฏิบัติงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย
๒) กลุ่มงานตำราและเอกสารทางวิชาการ ปฏิบัติงานส่งเสริมสนับสนุนและประสานงานการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ การแต่งตำราและหนังสือทางวิชาการของมหาวิทยาลัย รวมทั้งรวบรวมผลงานทางวิชาการ เพื่อจัดพิมพ์เผยแพร่ และปฏิบัติงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย
ทำเนียบผู้อำนวยการกองวิชาการ
๑. พระเมธีสุทธิพงศ์ (ระวัง วชิรญาโณ) (พ.ศ. ๒๕๓๐-๒๕๓๑)
๒. พระมหาประยูร ธมฺมจิตฺโต (พ.ศ. ๒๕๓๑-๒๕๓๓)
๓. พระมหาสมชัย กุสลจิตฺโต (พ.ศ. ๒๕๓๓-๒๕๓๔)
๔. พระมหาสมบูรณ์ สุจิตฺโต (พ.ศ. ๒๕๓๔-๒๕๓๕)
๕. พระศรีสุทธิพงศ์ (อาทร อินฺทปญฺโญ) (พ.ศ. ๒๕๓๕-๒๕๓๘)
๖. พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ (พ.ศ. ๒๕๓๘-๒๕๔๐)
๗. พระมหาเทียบ สิริญาโณ (พ.ศ. ๒๕๔๐-๒๕๔๒)
๘. พระสุธีวรญาณ (ณรงค์ จิตฺตโสภโณ) (พ.ศ. ๒๕๔๒-๒๕๔๓)
๙. พระมหาพล อาภากโร (พ.ศ.๒๕๔๓-๒๕๔๙)
๑๐. พระมหาสุทัศน์ ติสฺสรวาที (พ.ศ.๒๕๔๙-๒๕๕๙)
๑๑. พระมหาธิติ อนุภทฺโท (พ.ศ.๒๕๕๙-๒๕๖๒)
๑๒. รศ.ดร.โกนิฏฐ์ ศรีทอง (พ.ศ.๒๕๖๒-๒๕๖๓)
๑๓. พระมหาขวัญชัย ปุตฺตวิเสโส (พ.ศ.๒๕๖๓-ปัจจุบัน)