สื่อสิ่งพิมพ์หนังสือวิชาการ

คู่มือ ประโยค ป.ธ.๓ อรรถกถาธรรมบท ภาค ๘ แปลโดยพยัญชนะ

ชื่อ คู่มือ ประโยค ป.ธ.๓ อรรถกถาธรรมบท ภาค ๘ แปลโดยพยัญชนะ
ISBN 978-616-300-147-4
ภาษา ไทย
ตีพิมพ์ปี ๒๕๕๘
จำนวน ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า ๓๐๖
ผู้แปล คณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
โรงพิมพ์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ราคาปก ๑๔๐ บาท
เนื้อหาโดยย่อ คู่มือ ประโยค ป.ธ.๓  “อรรถกถาธรรมบท ภาค ๘  แปลโดยพยัญชนะ”  เล่มนี้ แปลมาจากอรรถกถาธรรมบท ภาษาบาลี  ภาค ๘ ซึ่งเป็นผลงานของพระพุทธโฆสาจารย์ นักปราชญ์ชาวอินเดีย ผู้มีชื่อเสียงกึกก้อง เดินทางไปสิงหล (เกาะลังกา)  เพื่อแปลพระไตรปิฎกและอรรถกถาจากภาษาสิงหลเป็นภาษาบาลี  เมื่อ  พ.ศ.๙๕๖  เป็นสำนวนการแปลอรรถกถา ซึ่งเป็นหลักสูตรวิชาแปลมคธเป็นไทย  ชั้นประโยค ป.ธ.๓  มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ศึกษาเนื้อหาหรือเรื่องราว  จำนวน ๓ วรรค คือ

ตัณหาวรรค  หมวดว่าด้วยตัณหา มุ่งเน้นให้รู้จักตัณหา (ความทะยายอยาก) ๓ ประการ คือ (๑) กามตัณหา ความทะยานอยากในกาม  (๒) ภวตัณหา ความอยากเป็น (๓)  วิภวตัณหา ความไม่อยากเป็น  ตัณหา ๓ ประการนี้  เกิดขึ้นแก่คนที่ประมาท เหมือนเถาย่านทรายเจริญอยู่ในป่า และเกิดแก่ผู้ที่กำหนัดยินดีด้วยราคะ ผลจากการถูกตัณหาครอบงำ  ผู้ที่ตกอยู่ใต้อำนาจของตัณหา ย่อมเร่ร่อนไปมาเหมือนวานร ที่ต้องการผลไม้เที่ยวเร่ร่อนไปมาในป่า  วิธีกำจัดตัณหา คือมีปัญญา เจริญฌาน  ผลดีจากการกำจัดตัณหาได้ ทำให้ความโศกสิ้นไป  เหมือนหยาบน้ำกลิ้งตกไปจากใบบัว  ละทุกข์ทั้งปวงได้ ไม่ต้องเกิดอีกต่อไป  และทำให้สิ้นตัณหา

ภิกขุวรรค หมวดว่าด้วยภิกษุ  มุ่งเน้นเกี่ยวกับภิกษุ ทรงสอนว่า สิ่งแรกที่ภิกษุผู้มีปัญญาในศาสนานี้ต้องกระทำคือสำรวมอินทรีย์ มักน้อยสันโดษ  ระมัดระวังในวินัยบัญญัติ คบกัลยาณมิตร ผู้ขยันขันแข็ง มีอาชีพสะอาด  ทรงสอนไม่ให้เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย มุ่งเจริญกัมมัฏฐาน  ไม่ถือมั่นในรูป ไม่ประมาท  รู้จักตักเตือนตนเอง รู้จักพึ่งตนเอง

พราหมณวรรค หมวดว่าด้วยพราหมณ์ มุ่งเน้นเกี่ยวกับคุณสมบัติของพราหมณ์ ตามพุทธทรรศนะ  เดิมที  คำว่า  พราหมณ์  เป็นคำเรียกวรรณะพราหมณ์ของชาวอินเดีย เมื่อพระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้น  พระองค์ทรงบัญญัติคุณสมบัติของพราหมณ์ใหม่ ซึ่งก็คือ พระขีณาสพนั่นเอง  คุณสมบัติของพราหมณ์ หรือพระขีณาสพที่ทรงแสดงไว้ในวรรคนี้ เป็นคุณสมบัติและปฏิปทาของพระสาวกแต่ละท่าน เช่น ไม่มีกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจ มีความสำรวมระวัง  มีสัจจะ  มีธรรม  เป็นผู้สะอาด  ทรงแสดงเพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่าง ในการนำไปปฏิบัติ  มีจำนวนพระสูตรถึง ๓๑ สูตร

คู่มือ ประโยค ป.ธ.๓  “อรรถกถาธรรมบท ภาค ๘  แปลโดยพยัญชนะ”  เล่มนี้ แปลโดยคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยกล่าวถึงเนื้อหาหรือเรื่องราวตัณหาวรรคหมวดว่าด้วยตัณหา มี๑๒  เรื่อง๒๖ คาถา ในวรรคนี้ มุ่งเน้นถึงตัณหา คำว่า ตัณหา หมายถึงความทะยานอยากในอารมณ์ทั้งหลายมี ๓ ประการ คือ (๑) กามตัณหา (๒) ภวตัณหา (๓) วิภวตัณหา แยกเป็นสายได้ ๓๖ สาย คือ ตัณหา ๓ ประการในอายตนะภายใน ๖ ประการ เป็น ๑๘ สาย (๓ x ๖ = ๑๘) และตัณหา ๓ ประการ ในอายตนะภายนอก ๖ ประการ เป็น ๑๘ สาย (๓ x ๖ = ๑๘) (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐) สาระสำคัญในวรรคนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ตัณหาย่อมเจริญเพิ่มพูนแก่บุคคลผู้ประมาทปราศจากสติ ไม่เจริญฌาน วิปัสสนา มรรค และผล (ขุ.ธ.อ. ๘/๖) เมื่อบุคคลถูกตัณหาครอบงำ ย่อมเศร้าโศก แต่เมื่อสามารถครอบงำตัณหาได้ ขุดรากตัณหาได้ด้วยอรหัตตมัคคญาณ ย่อมไม่เศร้าโศก

ภิกขุวรรค  หมวดว่าด้วยภิกษุ มี ๑๒  เรื่อง ๒๓ คาถา ในวรรคนี้ มุ่งเน้นภิกษุ คำว่า ภิกษุ ในวรรคนี้หมายถึงบุคคลผู้สำรวมมือ เท้า และวาจา ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย มุ่งเจริญกัมมัฏฐาน (ดูเรื่องแห่งภิกษุฆ่าหงส์) หมายถึงบุคคลผู้ไม่ถือมั่นในนามรูป (ดูเรื่องแห่งพราหมณ์ถวายทานอันเลิศ ๕ อย่าง) ในวรรคนี้มีสาระสำคัญที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเกี่ยวกับภิกษุ และเป็นสาระสำคัญที่ปรารภพฤติกรรมซึ่งแตกต่างกันของภิกษุแต่ละรูปแต่ละกลุ่ม เช่น เรื่องภิกษุ ๕ รูป ผู้สำรวมทวารรูปละทวาร ทรงแสดง ว่า ภิกษุผู้สำรวมทวาร คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย วาจา และใจ ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์ในวัฏฏะ เรื่องภิกษุฆ่าหงส์ ทรงแสดงว่า บุคคลผู้สำรวมมือ เท้า วาจา สำรวมตน ยินดีเจริญกัมมัฏฐาน มีจิตตั้งมั่น อยู่ผู้เดียว สันโดษ เรียกว่า ภิกษุ และเรื่องพระนังคลกูฏเถระผู้เตือนตนเอง เจริญกัมมัฏฐานจนสามารถบรรลุอรหัตตผลได้ พระผู้มีพระภาคทรงปรารภท่านเป็นแบบอย่างแก่ภิกษุทั้งหลายว่า จงเตือนตนเอง จงคุ้มครองตนเอง มีสติป้องกันอกุศลกรรมมิให้เกิดในตน เมื่อทำได้อย่างนี้ก็จักอยู่ เป็นสุข

พราหมณวรรค  หมวดว่าด้วยพราหมณ์  มี     ๔๐ เรื่อง ๔๒ คาถา  ในวรรคนี้ มุ่งเน้นพราหมณ์ คำว่า พราหมณ์ ตามเนื้อหาสาระ ในวรรคนี้หมายถึงทั้งพระขีณาสพและพราหมณ์โดยชาติกำเนิด แต่พระผู้มีพระภาคทรงมุ่งแสดงถึงคุณสมบัติของพระขีณาสพเป็นหลัก เช่นในเรื่องพราหมณ์ผู้เลื่อมใสมาก พระผู้มีพระภาคทรงเรียกบุคคลผู้ตัดกระแสคือตัณหาได้ รู้แจ้งสภาวะที่อะไรปรุงแต่งไม่ได้ (นิพพาน) ว่า พราหมณ์ ในเรื่องภิกษุ หลายรูป ทรงเรียกบุคคลผู้ถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งสองคือสมถะและวิปัสสนา ปราศจาก โยคะ ๔ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชาว่า พราหมณ์ และในเรื่องบรรพชิตรูปใด รูปหนึ่ง ทรงเรียกบุคคลผู้ลอยบาปได้ว่า พราหมณ์

 

 

 

Close