ชื่อ คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค ๑ เล่ม ๒
ISBN  

978-616-300-675-2

ภาษา ไทย
ตีพิมพ์ปี กรกฎาคม  ๒๕๖๓
จำนวน  ๕  เล่ม
จำนวนหน้า ๒๐๔
ผู้แปล คณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ผู้ทรงคุณวุฒิตรวจ รศ.ดร.สมิทธิพล เนตรนิมิตร
โรงพิมพ์ กองวิชาการ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ราคาปก – บาท
เนื้อหาโดยย่อ  

คู่มือ คัมภีร์วิสุทธิมรรค   ภาค ๑ เล่ม ๒ นี้ มีเนื้อหาประกอบด้วย ๕ นิเทศ คือ

(๓) กัมมัฏฐานคหณนิเทศ แสดงถึงข้อปฏิบัติเบื้องต้น ก่อนที่ผู้ปฏิบัติจะลงมือปฏิบัติกัมมัฏฐาน นั่นคือให้เข้าใจการตัดความกังวล ๑๐ ประการมีความกังวลเรื่องที่อยู่ ความกังวลเรื่องตระกูลเป็นต้น ให้เรียนรู้กัมมัฏฐาน ๒ อย่างมีการแผ่เมตตาในเพื่อนภิกษุเป็นต้น รวมทั้งศึกษาให้รู้ลักษณะของผู้ที่จะเป็นอาจารย์ที่ตนควรเข้าไปหา เรียนรู้ถึงจริตจริยาแล้วจึงวินิจฉัยกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจเสียก่อน ก่อนที่จะตัดสินใจมอบตัวลงเป็นศิษย์ของอาจารย์ท่านใด เพื่อไม่เกิดความผิดพลาดและเสียใจภายหลัง

(๔) ปถวีกสิณนิเทศ เมื่อท่านแสดงวิธีการแสวงหาครูอาจารย์และสถานที่ที่ควรแก่การปฏิบัติกัมมัฏฐานแล้ว จึงแสดงวิธีการเจริญปถวีกสิณกัมมัฏฐานโดยพิสดาร เริ่มแต่การแสวงหาดินสีต่าง ๆ ที่จะนำมาทำดวงกสิณ วิธีการเพ่งพิจารณาจนได้นิมิต การรักษานิมิต และความฉลาดในอุบายที่จะทำให้อัปปนาฌานที่เรียกว่าอัปปนาโกศลเกิด มีการทำวัตถุให้สะอาด และการทำอินทรีย์ให้เสมอกันเป็นต้น ทั้งความฉลาดในการเจริญกัมมัฏฐานในระดับฌานทั้ง ๔ มีปฐมฌานเป็นต้น

(๕) เสสกสิณนิเทศ ท่านแสดงกสิณกัมมัฏฐานที่เหลืออีก ๙ อย่าง คือ อาโปกสิณ การเพ่งน้ำเป็นอารมณ์ เตโชกสิณ การเพ่งไฟเป็นอารมณ์ วาโยกสิณ การเพ่งลมเป็นอารมณ์ นีลกสิณ

การเพ่งวัตถุสีเขียวมีดอกไม้เป็นต้นเป็นอารมณ์ ปีตกสิณ การเพ่งวัตถุสีเหลืองมีดอกไม้เป็นต้นเป็นอารมณ์ โลหิตกสิณ การเพ่งวัตถุสีแดงมีดอกไม้เป็นต้นเป็นอารมณ์ โอทาตกสิณ การเพ่งวัตถุสีขาวมีดอกไม้เป็นต้นเป็นอารมณ์ อาโลกกสิณ การเพ่งแสงสว่างเป็นอารมณ์ และปริจฉินนาสกสิณ การเพ่งช่องว่างเป็นอารมณ์ พร้อมทั้งความฉลาดและผลที่เกิดขึ้นจากการเจริญกสิณเหล่านี้

(๖) อสุภกัมมัฏฐานนิเทศ ท่านแสดงวิธีการเจริญอสุภกัมมัฏฐาน ๑๐ ประการ ได้แก่ (๑) อุทธุมาตกอสุภะ พิจารณาซากศพที่พองขึ้น (๒) วินีลกอสุภะ พิจารณาซากศพที่มีสีเขียว (๓) วิปุพพกอสุภะ พิจารณาซากศพที่มีน้ำหนองไหล (๔) วิฉิทกอสุภะ พิจารณาซากศพที่ขาดแยกจากกัน (๕) วิขายิตกอสุภะ พิจารณาซากศพที่ถูกสัตว์กัดกิน (๖) วิกขิตตกอสุภะ พิจารณาซากศพที่กระจัดกระจายอยู่ (๗) หตวิกขิตตกอสุภะ พิจารณาซากศพที่ถูกฟันกระจัดกระจาย (๘) โลหิตกอสุภะ พิจาณาซากศพที่มีโลหิตเปรอะเปื้อน (๙) ปุฬวกอสุภะ พิจาณาซากศพที่เต็มไปด้วยหมู่หนอน (๑๐) อัฏฐิกอสุภะ พิจารณาซากศพที่เหลือแต่ร่างกระดูก แสดงวิธีการไป การมา การพิจารณาในแต่ละประเภท จนถือเอานิมิตต่างๆ วิธีการผูกจิตไว้ในนิมิตนั้น ทำให้เกิดความชำนาญ จนเป็นเหตุให้เกิดปฐมฌานขึ้น สามารถบรรเทาราคะลงได้

(๗) ฉอนุสสตินิเทศ แสดงวิธีการเจริญฉอนุสสติกัมมักฐาน ๖ ได้แก่ (๑) พุทธานุสสติ การระลึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ (๒) ธัมมานุสสติ การระลึกถึงพระธรรมเป็นอารมณ์ (๓) สังฆานุสสติ การระลึกถึงพระสงฆ์เป็นอารมณ์ (๔) สีลานุสสติ การระลึกถึงศีลเป็นอารมณ์ (๕) จาคานุสสติ การระลึกถึงการบริจาคเป็นอารมณ์ (๖) เทวตานุสสติ การระลึกคุณมีศรัทธาเป็นต้นที่ทำให้เป็นเทวดาเป็นอารมณ์ ท่านอธิบายวิธีการเจริญอนุสสติเหล่านี้เป็นอารมณ์อย่างละเอียด พร้อมทั้งแสดงอานิสงส์ที่เกิดขึ้นจากการเจริญอนุสสติกัมมัฏฐานแต่ละอย่าง มีการทำให้องค์ฌานเกิดขึ้นเป็นต้น